TAMRON…EXPERIENCE : NEW FIRMWARE UPDATE VER.2.0
เติมเต็มประสิทธิภาพ AF TRACKING ให้เลนส์ TAMRON 50-400mm F/4.5-6.3 Di III VC VXD (Model A067)
TAMRON 50-400mm F4.5-6.3 Di III VC VXD(Model A067) เลนส์ซูมซุปเปอร์เทเลโฟโต้ที่ให้มุมมองการสร้างสรรค์พิเศษจากมุมมองปกติ ไปจนถึงสร้างความประทับใจด้วยการขยายวัตถุในระยะไกลให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจน ถูกพัฒนาความสามารถในการโฟกัสติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุ(AF Tracking) ให้เกาะหนึบดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งเราก็ได้ไปลองทดสอบกับกีฬาสุดหินอย่าง 3×3 Basketball Thailand League ที่ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา แถมสถานที่แข่งก็เป็นแบบอินดอร์ ดังนั้นสภาพแสงโหดแน่นอน !!!
ตอนที่ทราบข่าวว่าจะมีเฟิร์มแวร์ใหม่มาสำหรับเลนส์รุ่นนี้ ก็มั่นใจว่าคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาคของวิดีโอ ซึ่งพอทราบว่าเป็นเรื่อง AF Tracking เพื่อรองรับการทำงานของช่างภาพทั้งสายภาพนิ่ง และภาพวิดีโอ ก็รู้สึกอยากลองเพราะแต่เดิมก็ถือว่าทำได้ดีในกลุ่มเลนส์ประเภทนี้ การพัฒนาให้การทำงานตอบสนองเร็วขึ้น ดีขึ้น ย่อมเป็นเรื่องที่ดีงาม จึงคิดว่าจะนำเลนส์ TAMRON 50-400mm F4.5-6.3 Di III VC VXD(Model A067) ไปลองอะไรดี?
..อยู่ดีๆก็ปัดไปเจอการแข่งขันบาสเกตบอลลีกอาชีพแบบ3×3 (3×3 BL THAILAND ) ที่ย้ายสถานที่แข่งจากลานคนเมืองมาเป็นศูนย์กีฬาในร่มของมหาวิทยาลัยสยาม เลยปักหมุดเตรียมตัวเข้าไปบันทึกภาพกีฬา..ที่ไม่เคยถ่ายภาพจริงๆจังๆมาก่อนเลย โดยสิ่งที่คิดเตรียมเรื่องแรกคือ เรื่องของค่าความไวแสง หรือ ISO ที่คงต้องดันสูงแน่ๆเพื่อเลี้ยงสปีด หรือความไวชัตเตอร์ให้สูงพอจะหยุดการเคลื่อนไหวของนักกีฬา เพราะแสงจากสปอร์ทไลท์ไม่น่าจะแรงพอ เหมือนแสงของสนามเอ้าท์ดอร์
..เมื่อเห็นสนามจริงก็ทำให้สบายใจในเรื่องมุมภาพ เพราะเราสามารถส่องมุมสูงจากบนอัฒจันทร์ และรอบๆสนามได้แบบอิสระ เรียกว่ามีระยะทำการให้ทดสอบประสิทธิภาพเลนส์กันแบบหลากหลายระยะ ซึ่งตามที่ทราบพื้นฐานการถ่ายภาพกันดีว่า หากวัตถุอยู่ใกล้จะมีความยากในการจับการเคลื่อนไหวมากกว่าวัตถุที่อยู่ในระยะไกล แม้จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากัน อีกอย่างคือ ขนาดของกรอบของการจับโฟกัส subject ครอบคลุมเท่าเดิม ดังนั้นระยะห่าง ขนาด จึงมีผลต่อการโฟกัสไปด้วย
ใครที่เพิ่งหัดถ่ายเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ มักเจอปัญหาในเรื่อง หาตัวแบบไม่เจอ..
การฝึกฝนเล็งจากระยะสั้นสุดของเลนส์ก่อนแล้วค่อยกระชากกระบอกเลนส์ไปสุดกระบอกนั้นเป็นเรื่องปกติ พอเริ่มชินจะอาศัยตาข้างที่ไม่ได้เล็งวิวไฟเดอร์เป็นผู้ช่วยในการกะจังหวะทิศทางการเคลื่อนที่ของsubject โดยเลนส์จะถูกซูมเตรียมไว้ล่วงหน้าในระยะทางยาวโฟกัสที่คาดการณ์เฟรมไว้ก่อน
ในกล้อง Sony A9 ให้เข้าไปเลือกตั้งค่าโหมดโฟกัส(Focus Mode))ของกล้องเป็นแบบ Continuous AF จากนั้นเข้าไปที่ Focus Area แล้วเลือกไปที่ Tracking Expand Flexible Spot เวลาจะถ่ายภาพให้นำจุดโฟกัสไปทาบที่subject แล้วกดปุ่ม AF-ON ค้างไว้ให้เป็นการยืนยันเป้าหมายให้กรอบเป็นสีเขียว จากนั้นมันจะติดตามเป้าหมายแบบเกาะไม่ยอมปล่อย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของเฟิร์มแวร์ที่พัฒนามาให้ในครั้งนี้นั่นเอง !!! ระหว่างที่นิ้วโป้งกดให้โฟกัสติดตาม นิ้วชี้ก็กดชัตเตอร์บันทึกภาพไปพร้อมกัน เมื่อจบแอคชั่นนั้นๆแล้วเราอยากเปลี่ยนตำแหน่งโฟกัสเริ่มต้นให้กลับมาอยู่ตรงกลาง ..ก็แค่เพียงกดปุ่ม(push) จอยสติ๊กลงไปเท่านั้น!
เริ่มวอร์มอัพจากการถ่ายจากระยะไกลเพื่อดูมุมและเทคนิคของนักกีฬาแต่ละคน รวมถึงกระตุ้นตัวเองให้ปรับตัวเข้ากับอุปกรณ์และสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จากนั้นค่อยๆเข้าไปเล็งข้างสนามเพราะยากกว่า หลายๆจังหวะในการโฟกัสถ่ายภาพให้ติดตามเป้าหมายมันทำได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นแอคชั่นของนักกีฬาบาสเกตบอลในจังหวะเบียดกระแทก เลย์อัพ(Lay up) รีบาว์น (Rebound) หรือจังหวะดังค์(Dunk) จะมีแค่ช่วงแรกๆที่ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ช้าเกินไปไม่สามารถหยุดให้คมชัดได้ จึงต้องเปลี่ยนให้ค่ามันสูงขึ้นกว่าเดิม(1/500 – 1/1000s) แต่ก็ต้องแลกกับค่า ISO ที่ก็ต้องดันให้สูงขึ้นด้วย(ISO 1600-ISO 6400) ส่วนค่ารูรับแสงจะตั้งไว้ที่กว้างสุดของเลนส์อยู่แล้ว มีบางครั้งที่อยากได้ชัดลึกหน่อยก็ปรับไปอยู่ที่ F/7.1 ในกรณีนี้ถ้าเป็นแสงธรรมชาติที่แรงก็ไม่ต้องใช้ค่าความไวแสงสูงมาก หรือถ้าในสเตเดียมที่มีสปอร์ทไลท์สว่างแรงก็จะช่วยได้มาก ยิ่งถ่ายยิ่งสนุก..ใครกลัวเลนส์จะหนักเกินก็พยายามหาเครื่องทุ่นแรงมาช่วยก็ได้ เช่น สายสะพายแบบคาดลำตัว ขาตั้งแบบโมโนพอด จะได้เพลิดเพลินกับการเก็บภาพได้นานเท่าที่ต้องการ ขอเสริมนิดว่า..ถ้ามีโอกาสถ่ายภาพนักกีฬาระดับที่มีดีกรีจะเป็นประโยชน์กับเรามาก เพราะคุณจะได้ท่าทางต่างๆที่สวยงาม และได้โมเม้นต์ลีลาที่ง่ายต่อการบันทึกภาพ
Tamron ใส่ใจในเรื่องของการนำเลนส์ไปใช้งานในแต่ละฟังก์ชั่นการใช้งานจริงๆ แม้บางท่านจะไม่ได้ซื้อไปใช้งานในลักษณะนั้นๆก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีทุกวันนี้มีช่างภาพสมัครเล่นที่ผลิตคอนเท้นท์ในรูปแบบของภาพนิ่ง และวิดีโอมากมาย พยายามเล่าเรื่องจากภารกิจประจำวัน หรือสิ่งที่ไปพบเห็นมาเล่าให้ผู้ติดตามได้มีประสบการณเช่นนั้นบ้าง การใช้งานได้ง่าย สะดวก จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตอบโจทย์ เพราะ…ทำไมจะไม่อยากใช้ ถ้ามันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น