GR พาเที่ยว … คนล่าแสง by Supasit Srisawathsak
กล้อง RICOH GR III เป็นกล้องที่มีคุณสมบัติของการทำงานในระดับมืออาชีพ รองรับการควบคุมกล้องที่นักถ่ายภาพคุ้นเคยด้วยวงแหวนคอนโทรลด้านหน้า และด้านหลังแยกอิสระ สามารถปรับตั้งค่าการทำงานแต่ละวงแหวน แต่ละปุ่มให้เปลี่ยนได้ตามความถนัด ซึ่งแต่ละคนอาจถนัดแตกต่างกันไป จุดนี้เองทำให้กล้องนั้นเป็นกล้องของเราโดยสมบูรณ์ เพราะคนอื่นหยิบไปใช้จะงงในความเราไง…555
เกริ่นจั่วหัวว่าคนล่าแสง ก็ต้องมาทำความเข้าใจเครื่องมือที่จะใช้ในการนี้สักหน่อย เครื่องมือที่จะพูดถึงก็คือ “ระบบวัดแสง” (Light Metering System) ซึ่งในกล้อง Ricoh GR III มีให้เลือกใช้งานหลายแบบ สามารถหยิบไปใช้งานได้ตามความถนัด หรือตามความเหมาะสมของสภาพแสงแต่ละครั้ง โดยคุณโจ้ ศุภสิธ ศรีสวัสดิ์ศักดิ์ จะพาไปชมผลงานที่ผ่านการวิเคราะห์แสง ที่มีทั้งง่ายและเข้าขั้นยากกันเลยทีเดียว…แต่ GR ก็เอาอยู่หมัด
Multi-segment ระบบวัดแสงแบบสามัญประจำบ้าน ที่กล้องจะนำปริมาณแสงทั้งภาพมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยเองตามที่ถูกออกแบบมา ซึ่งพื้นฐานจะคล้ายๆกันแต่จะแตกต่างกันบ้างในแต่ละแบรนด์ เหมาะกับลักษณะแสงที่กระจายทั่วทั้งภาพใกล้เคียงกันไม่มีความซับซ้อน
Center-weighted รูปแบบการวัดแสงที่จะเน้นความสำคัญไปยังวัตถุที่ถูกจัดเฟรมไว้บริเวณกลางภาพ โดยนำค่าแสงพื้นที่รอบๆมาร่วมคำนวณด้วย แต่จะให้ความสำคัญรองลงไปตามการออกแบบระบบของกล้องแต่ละรุ่น การถ่ายภาพบุคคลก็นำระบบวัดแสงแบบนี้ไปใช้บ่อยเหมือนกัน เพราะส่วนใบหน้าจะตกในบริเวณกลางภาพ
Spot รูปแบบการคำนวณแสงที่เฉพาะเจาะจงในการวิเคราะห์แสงในแต่ละจุด ที่ช่างภาพต้องการทราบอย่างละเอียดเพื่อให้แสงในภาพออกไปในโทนที่ต้องการ บางคนบอกว่ามักใช้กับสภาพแสงที่ซับซ้อน คือ มีทั้งส่วนมืด และส่วนสว่างในภาพ ยิ่งค่าทั้งสองมีความเปรียบต่างกันสูงก็ยิ่งเพิ่มความยากในการจะคุมให้แสงสวยงามทั้งภาพ
Highlight-weighted ระบบวัดแสงเฉพาะจุดเน้นส่วนสว่าง เป็นการวัดแสงที่ให้ความสำคัญกับส่วนสว่างเป็นหลัก ทำให้เราไม่พลาดการสูญเสียรายละเอียดในส่วนสว่างไป ซึ่งคุณโจ้ ศุภสิธก็มักจะเลือกใช้บริการระบบนี้เป็นหลัก เนื่องจากชื่นชอบโทนภาพที่มีความเปรียบต่างสูง(High Contrast) ฉะนั้นจึงต้องพยายามคุมส่วนสว่างให้ได้ แม้จะถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW ก็ตาม ก็ต้องมั่นใจว่าจะเก็บรายละเอียดแต่ละอย่างทั้งส่วนมืด และส่วนสว่างเอาไว้ให้ได้ครบถ้วน
นั่นเป็นแค่ภาคแรก ยังไม่ใช่ภาคผนวก เพราะการสั่งสมประสบการณ์ต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่งจากทุกสิ่งที่ตกตะกอนจะช่วยสอนให้คุณ รู้ว่าควรจะปรับใช้กับตนเองตอนไหน และอย่างไร เช่น จะชดเชยแสงให้โอเวอร์ขึ้นไป หรือดึงแสงให้สว่างลดลงมาเท่าไรจึงจะได้ค่าแสงที่ตั้งใจไว้ปรากฏขึ้นมา ซึ่งค่ามาตรฐานจากโรงงานจะเซ็ทให้สามารถปรับชดเชยแสงได้ง่ายเพียงแค่โยกปุ่มADJ.ไปทางซ้ายหรือขวาเท่านั้นเอง!
สัปดาห์หน้ากลับมาพบกับเรื่องราวในตอนต่อไป…ชีวิตคนเมือง