Back to Basic : Knowledge of Flash…เล่าเรื่องแฟลช #3

ในการสร้างสรรค์ภาพด้วยแฟลช หากเข้าใจระบบการทำงานของสิ่งที่มีออกแบบมาเพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานอันหลากหลายย่อมเป็นผลดีต่อนักถ่ายภาพ แม้จะใช้เพียงแค่บางโหมดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะบางฟังก์ชั่นถูกออกแบบมาใช้กับรูปแบบเฉพาะจริงๆ ลองไปดูกันว่าแฟลชมีระบบการทำงานอย่างไร…เกี่ยวพันกับ…GRist แค่ไหน

มารู้จักระบบแฟลชกัน :

ฟังก์ชั่นระบบแฟลชในตัว GR จะมี Flash on ที่ควบคุมให้เปิดแฟลชทุกภาพ, Flash On + Red-eye จะเพิ่มในเรื่องแก้ตาแดงด้วยการยิง Pre-flash, Slow-speed sync แฟลชสัมพันธ์มความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และSlow Sync + Red-eye สัมพันธ์ความเร็วชัตเตอร์ต่ำและช่วยแก้ตาแดง สำหรับโหมดที่มีในตัวแฟลชอิเล็คทรอนิกส์ส่วนใหญ่มีอะไรบ้างไปดูกัน…

ระบบแมนนวล (Manual : M) รูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิม ไม่มีความซับซ้อนใดๆ เพราะเป็นการควบคุมกำลังไฟให้สอดคล้องกับค่ารูรับแสง ค่าความไวแสง และระยะห่างวัตถุ โดยสามารถปรับกำลังได้ตั้งแต่เต็มไฟ(1/1) ไปจนถึง 1/128 สำหรับบางคนอาจมองว่าใช้ยากเหมือนโหมดการถ่ายภาพไหม บอกเลยว่าไม่ยากเกินการทำความเข้าใจแน่นอน

ระบบวัดแสงผ่านเลนส์ (Through the lens : TTL) รูปแบบการฉายแสงแฟลชอัตโนมัติ จากการวิเตราะห์ของกล้องที่อาศัยแสงแฟลชสะท้อนผ่านเลนส์กลับเข้ามาตามค่ารูรับแสงและระยะห่างจากวัตถุให้ปล่อยแฟลชออกไปพร้อมการทำงานของชัตเตอร์ จึงมีความแม่นยำสูง สะดวก คล่องตัวกับรูปแบบการใช้งาน ซึ่งสามารถสั่งชดเชยแสงแฟลชได้ในกรณีที่คาดว่าจะเกินความผิดพลาดจากวัตถุที่สว่าง หรือมืดจนเกินไป

ระบบสัมพันธ์แฟลชม่านชุดที่สอง (Second Shutter Curtain Sync) รูปแบบการทำงานของแฟลชปกติจะทำงานร่วมกับกล้อง ก็เมือกดชัตเตอร์ทันที แต่ถ้าเป็นระบบนี้แฟลชจะสว่างไปกระทบเซนเซอร์รับภาพเมื่อม่านชัตเตอร์ชุดแรกปิด แล้วม่านชัตเตอร์ชุดที่สองเคลื่อนตัวลงมา ผลลัพธ์ที่ได้จะมีความสมจริงในภาพมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น รถมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถ้าใช้ระบบสัมพันธ์แฟลชม่านชัตเตอร์ชุดที่สอง รถจะชัดในทิศทางด้านที่กำลังจะเคลื่อนตัวไป ด้านหลังจะเกิดเป็นเส้นหวืดๆลางๆ

ระบบไร้สาย (Wireless Flash) รูปแบบการควบคุมแสงที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีความคล่องตัว และสามารถสร้างสรรค์ภาพได้อย่างหลากหลาย ช่างภาพสายสตรีทที่ใช้กล้อง GR ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพื่อนๆสามารถเข้าไปติดตามชมได้ในเพจ GRist Snap โดยหลักการควบคุมจะแบ่งเป็นตัวส่งสัญญาน(Transmitter) และตัวรับสัญญาน (Receiver) เมื่อเสียบตัวส่งสัญญานเข้ากับHotshoe ของกล้องแล้วกดชัตเตอร์ แฟลชก็จะสว่างไปยังตัวแบบเนื่องจากตัวรับสัญญานถูกกระตุ้นให้ทำงานพร้อมๆกัน แสงที่ได้จากการแยกแฟลชนอกตัวกล้องจะสร้างมิติให้กับภาพลักษณะเลียนแบบแสงธรรมชาติได้แบบเนียนๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าช่างภาพทุกวันนี้มีความรู้และเข้าใจนำแฟลชมาเป็นส่วนหนึ่งของงานชนิดขาดเธอเหมือนขาดใจ

สัปดาห์นี้คงได้รู้จัก และเข้าใจแฟลชกันดียิ่งขึ้น แต่การรู้ก็ไม่เท่ากับการนำไปปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ ใครที่สนใจจะเริ่มต้นแล้วยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร… สัปดาห์หน้ามาติดตามต่อในตอนสุดท้ายวันนี้ขอตัวไปชาร์จแบตเตอรี่สำหรับนำไปใส่ในแฟลชก่อน…สวัสดีครับ