MAPANG คุณนิตชัย โอฬารัตนพันธ์ (แป๋ง)

 

นิยามของกล้อง Ricoh GR III “ เล็ก กระชับ ฉับไว ” จากชายที่เพื่อนสมัยมัธยม เรียกว่า “ มะแป๋ง ”

เริ่มขึ้นในปี 2018 จากการติดตามข่าวการมาของ Ricoh GRIII

เมื่อมีความรู้สึกว่ากล้องที่ใช้..เริ่มไม่ตอบโจทย์เรื่องความต้องการพกพากล้องออกไปถ่ายภาพเป็นประจำทุกวัน

พอเดือนเมษายน 2019 ก็จัด Ricoh GRIII มาประจำการทันที.. หลังจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งให้ยืม Ricoh GRII มาทดลองใช้ชิมลางก่อน (ซึ่งกล้องตัวนี้ปัจจุบันก็มาอยู่ในชายคาเดียวกันถาวรแล้ว)

หากถามว่าติดใจอะไรในกล้อง Ricoh GRII  – การที่มีแฟลชแบบ Built-in มันตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานได้ดี

แต่ Ricoh GRIII ก็ให้คุณภาพไฟล์ RAW ที่ดีมาก ตัวPresent เรื่องสีก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ให้อารมณ์ฟิล์ม

หลักๆจะใช้โทน Standard เป็นประจำ สีของ Ricoh GRII กับ Ricoh GRIII ก็ไม่เหมือนกัน รุ่นใหม่จะให้สีสมจริงมากขึ้นกว่า

นั่นทำให้แฟลชเล็กอย่าง FlashQ ถูกเลือกมาจับคู่กับ Ricoh GRIII เพิ่มเติม เพราะมันมีขนาดเล็กและชาร์จสะดวกด้วยPower bank ผ่านสาย USB

ตั้งแต่ใช้ Ricoh GRIII มาไม่เคย Setting ฟังก์ชั่นอะไรเลย ใช้แต่ RAW+JPEG ใช้งานแนว Point & Shoot เป็นหลัก

ส่วนเรื่องทัชสกรีน กับระบบกันสั่น ที่มีเพิ่มมาก็ชอบ ด้วยความที่มันดูเป็นมิตรกับคนรอบข้างจึงเก็บไว้ใช้ทั้งคู่

 

 

ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าชอบถ่ายภาพแนว Street ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2018

ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ถ่ายภาพแนว Portrait, Landscape เหมือนคนเริ่มต้นทั่วไป

และยังไม่ได้ศึกษาแนวสตรีทจริงจัง ตอนแรกยังเข้าใจว่าเป็นการถ่ายภาพตามถนนเท่านั้น

จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ “ คุณแม่ ” ที่เสนอเวิร์คชอปสตรีทมาให้ตอนปี 2018 เป็นของพี่จ๊อบ กลุ่มสตรีทโฟโต้ไทยแลนด์

ต่อมาจึงได้ศึกษางานของ มร.บรูซ กิลเดน (Bruce Gilden) ช่างภาพที่มีผลงานโดดเด่นเรื่องของการสาดแฟลช และถ่ายรูประยะประชิด, มร.มาร์ติน พาร์ (Martin Parr) ช่างภาพที่ใช้สีสันในภาพจัดจ้าน และเต็มไปด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่ทำได้อย่างแยบยล, มร.เมซีย์ ดาโควิช (Maciej Dakowicz) ช่างภาพที่ชื่นชอบการถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตยามค่ำคืนของผู้คน เรียกว่าค้นหาแรงบันดาลใจจนทำให้ตอนนี้มีความเข้มข้นของสตรีทอยู่เต็มตัว…

นิยาม “ เล็ก กระชับ ฉับไว ”  เกิดจากการที่ Ricoh GRIII สามารถเข้าไปได้ทุกสถานการณ์เพราะมันดูเล็กเป็นมิตร

คนทั่วไปจะรู้สึกว่าเป็นกล้องมือสมัครเล่น ไม่น่ามีพิษมีภัย

“ ผมจะไม่พกใส่ในกระเป๋ากล้องเลย ส่วนใหญ่จะพกใส่ในอะไรที่หยิบง่ายในแต่ละครั้งที่ออกจากบ้าน

เหมือนเป็นอวัยวะที่ 37  แค่มีพกไว้แม้ไม่ได้หยิบมาใช้..ก็อุ่นใจ ”

แต่..บางครั้งก็ใส่ในกระเป๋ากางเกงออกจากบ้านเลย

จะหยิบสมาร์ทโฟนมาใช้ก็ต่อเมื่อลืมกล้อง หรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะที่กำลังถือโทรศัพท์อยู่พอดี

 

 

ผลงานที่นำมาให้ชมนั้น..เกิดจากที่ถ่ายภาพแมวไว้เยอะมาก

พี่ Pong Tinnakorn ที่ให้ยืม Ricoh GRII อีกนั่นเองมาช่วยเป็น Curator ให้

ระหว่างคัดภาพไปคัดภาพมาก็กลายเป็นได้ภาพแมวดำ ที่หลบซ่อนในความมืดเยอะ

เลยเกิดคอนเซ็ปท์ประมาณว่า..เปลี่ยนความกลัวเป็นการปลดปล่อย

คัดเลือกมาได้ 5 ภาพ ขาดภาพที่ 6  ซึ่งไปได้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพ2 จากการไม่ยอมแพ้

อยากจะไปถ่ายอีกครั้งเพราะคิดว่าอยากได้ท้องฟ้าช่วงทไวไลท์ ทั้งที่วันแรกก็คิดว่าได้แล้วล่ะ!

ตอนนั้นมีเวลาถ่ายภาพแค่ประมาณ 10 นาที จนสุดท้ายก็ได้มาเป็นผลงานชุด (un)lucky Cat

ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพชุดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงาน Finalist ในการประกวดภาพถ่าย Bangkok Street Photo Festival 2020

และได้รับเกียรติให้นำผลงานไปร่วมจัดแสดง ณ Kathmandu Photo Gallery

 

เรื่องราวของภาพถ่ายชุดนี้ ถ่ายทอดชีวิตของเหล่า “แมวดำ” ที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย

ทำให้พวกมันนั้นต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆ หวาดกลัว ถูกขับไล่ ถูกทำร้าย

เพียงเพราะความเชื่อผิดๆ ของมนุษย์ หากเราเปิดใจมองข้ามเรื่องสี อาจทำให้สีดำของพวกมันนั้นค่อยๆ จางหายไป

และกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีอิสระแบบที่พวกมันควรจะเป็น…

 

เสียงตอบรับงาน..ทำให้ผมมีแรงผลักดันในการสร้างสรรค์งานชุดต่อๆไป และได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนจากการถ่ายภาพเยอะมากๆ

 

 

ในช่วงนี้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการถ่ายภาพจากเดิม เพราะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ต่างๆได้

เลยต้องผันตัวจากเดิมที่เป็นนักดนตรี กลายมาเป็นพ่อครัวฝึกหัด

แต่ด้วยความเป็นนักถ่ายภาพ..วิถีชีวิตประจำวัน ก็นำพาไปสู่ผลงานชุดล่าสุด ..

ในช่วงปลายปีที่แล้ว เห็นแสงแดดเข้ามาที่เครื่องครัวพอดี จึงไม่รีรอที่จะบันทึกภาพความงามนั้นไว้

ด้วยกล้อง Ricoh GRIII … อวัยวะที่ 37 ของ “ MAPANG ”

 

คอลัมน์ GR LOVER ขอขอบคุณ คุณนิตชัย โอฬารัตนพันธ์ (MAPANG)

กับเรื่องราวดีๆในโลกของการถ่ายภาพที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนๆชาว GRist

ได้มีพลังสร้างสรรค์ผลงานต่อไป…ด้วยกล้อง Ricoh GR

 

%d bloggers like this: