Back to Basic : UNDERSTAND IMAGE SIZE
UNDERSTAND IMAGE SIZE… เลือกขนาดไฟล์ภาพให้เหมาะกับงาน
เซ็นเซอร์รับภาพ (Image Sensor) ของกล้องแต่ละตัวจะประกอบไปด้วยพิกเซล(Pixels) จำนวนมากมาย เพื่อบันทึกข้อมูลแล้วส่งผ่านการประมวลผลกลายเป็นภาพออกมา ซึ่งเราจะขอพูดถึงไฟล์ที่เป็น JPEG เมื่อได้ภาพออกมากล้องจะบันทึกข้อมูลไปที่หน่วยความจำ ซึ่งกล้อง GR มีทั้งพื้นที่หน่วยความจำภายใน และใส่หน่วยความจำภายนอกได้
กล้องส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะบันทึกข้อมูลลงหน่วยความจำภายนอก โดยมีลักษณะรูปลักษณ์ และขนาดที่แตกต่างกัน เช่น Secure Digital(SD), CF(Compact Flash) ความจุแต่ละใบก็แตกต่างกัน จึงทำให้ความสามารถในการบันทึกภาพก็ไม่เท่ากัน อันนี้หมายถึงกล้องตัวเดียวกัน พิกเซลเท่ากันนะ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความละเอียดของพิกเซลนั้นจะถูกบีบอัดข้อมูลไฟล์ได้อีกตามความต้องการของแต่ละขนาดไฟล์ เช่น 6000×4000, 4800×3200, 3360×2240,1920×1280 สำหรับในกล้อง GR ก็จะใช้หน่วยความจำภายนอก ชนิด SD Card
หลายคนมักสงสัยว่าทำไมความละเอียดพิกเซลเท่ากันแต่ขนาดของไฟล์ไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะเราสามารถเลือกระบบการประมวลผลของกล้องได้ตามความเหมาะสม หากต้องการใช้ภาพนั้นเพียงแค่โพสต์ขึ้นทางสื่อออนไลน์ ก็อาจเลือกไฟล์ขนาดเล็ก แต่ถ้าหากต้องการนำไปพิมพ์เพื่อจัดแสดงนิทรรศการก็ควรเลือกความละเอียดสูง ให้ถูกระบบบีบอัดต่ำที่สุด
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า เพราะเหตุใดกล้องจึงยังมีเมนูให้เลือกระดับความละเอียดแทนที่จะคิดให้เองแบบอัตโนมัติ และในเมนูเปิดดูภาพจึงมีให้เลือกการบีบอัดไฟล์ให้มีขนาดเล็ก หรือในบางกล้องที่ส่งข้อมูลผ่านทางแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือกขนาดไฟล์เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และข้อมูลไม่หนักเกินไปสำหรับสมาร์ทโฟนอีกด้วย
สำหรับใครที่ชอบถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW แม้จะนำไปปรับแก้ภายหลังได้ แต่อย่างไรก็ต้องแปลงมาเป็นไฟล์มาตรฐานสากลเพื่อให้สามารถเปิดชมภาพได้จากทุกช่องทาง เรื่องของขนาดไฟล์จึงไม่ควรละเลยทำความเข้าใจเช่นกัน