ยังมีอีกหลายท่านที่ยังนึกเรื่องนี้ไม่ออก ผมจะลองอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดู ไม่รู้ว่าจะใช้ได้แค่ไหนนะ…
…วิธีการหยุดวัตถุด้วยภาพถ่าย ไม่ได้มีแค่ความเร็วของชัตเตอร์เพียงอย่างเดียว…
สมมุติว่าคุณอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมืดสนิท มันมืดเสียจนยกฝ่ามือขึ้นมาดูก็ยังมองไม่เห็น แต่ข้างหน้าที่ห่างออกไปนั้นมีใครคนหนึ่งกระโดดโลดเต้นวิ่งไปวิ่งมาอยู่ คุณรู้เพราะยังได้ยินเสียงชัดเจน แค่มองไม่เห็นเพราะมันมืด
…คุณลืมตาอยู่ตลอดเวลา
ทันใดนั้นเอง ก็มีแสงสว่างวาบ แว่บ! ขึ้นมาในเสี้ยววินาทีราวกับฟ้าผ่าแล้วดับมืดลงไปเหมือนเดิม คุณจะมองเห็นใครคนนั้นที่กำลังวิ่งอยู่ไหม?
แน่นอนว่าเค้าไม่ใช่ผี คุณก็ย่อมจะต้องเห็น แต่เป็นเพียงชั่วแว่บเดียว คุณเห็นเค้าเฉพาะตอนที่แสงวาบออกไปเป็นภาพเฉพาะจังหวะหยุดนิ่งอยู่อย่างนั้น
เห็นเฉพาะแค่จังหวะนั้น
กล้องก็คล้ายกันครับ ภาพที่ผมนำมาลงประกอบนี้ (และอีกบางภาพที่ลงไปก่อนหน้า) หลายท่านสงสัยว่าสปีดชัตเตอร์แค่ 1/60 sec หรือ 1/100 sec จะหยุดแมลงที่กำลังบินอยู่กลางอากาศได้ยังไง มั่วมั๊ยโม้มั๊ยนะ?
ภาพเหล่านี้(ภาพที่บิน)ความไวชัตเตอร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการหยุดแมลงครับ สิ่งที่หยุดมันเอาไว้ก็คือแสงแฟลชที่แว่บ! ออกมานั่นต่างหากล่ะ
อะไรที่เร็วกว่าแสงเห็นจะไม่มี (ยกเว้นจิต)
ถ้าคุณยังไม่เข้าใจตัวอย่างที่ยกมาข้างบนก็อย่าเพิ่งลงไปอ่านต่อครับ ไม่งั้นเดี๋ยวยิ่งงงหนัก ลองทำความเข้าใจสักแป๊บนึงก่อน ความไวชัตเตอร์น่ะมีส่วนต่อสภาพแสงแวดล้อม ถ้าอยากให้มันมืดลงก็เร่งให้เร็วขึ้น ถ้าอยากให้สว่างขึ้นก็ลดให้มันช้าลง
ในที่นี้ก็คือฉากหลังนั่นเอง
ถ้าภาพนี้ไม่มีแสงแฟลชเข้ามาเกี่ยวข้องมันก็จะเป็นภาพอันเดอร์มืดๆ ปกติ แยกแมลงออกมาให้เห็นไม่ได้เลย แต่เพราะแมลงมันเป็นส่วนที่โดนแสงแฟลช มันจึงทั้งสว่างและหยุดอยู่กับที่ยังไงล่ะ
ผมเคยบอกหลายๆ ท่านไปว่าสูตรตั้งต้นในการถ่ายภาพมาโครโดยใช้แฟลช (ถือกล้องมือเปล่า) คือ 1/160 sec • F/13 • ISO 100 +/- อะไรประมาณนี้…คุณคิดเหรอครับว่าสปีดชัตเตอร์เท่านี้จะถือมือเปล่าถ่ายมาโครได้โดยที่ภาพไม่สั่น?…แน่นอนครับว่ามันสั่นแน่ แต่ที่ถ่ายออกมาแล้วมันชัดเป๊ะก็เพราะอำนาจของแฟลชที่แว่บ! ออกไปนั่นต่างหากล่ะ กล้องสั่นอยู่เป็นปกติ แต่มันได้เห็นเฉพาะตอนที่แฟลชแว่บออกไป
ความเร็วของแสงคือเท่าไหร่ก็คงพอจะนึกออกนะครับ
สปีดชัตเตอร์ 1/160 sec นั่นก็คุมแสงฉากหลังเพื่อให้มันมืดต่างหาก อย่างที่เรารู้จักกันดีว่า “ภาพหลังดำ” ถ้าคุณไม่อยากให้ดำก็ลดความเร็วลงมา ซึ่งฉากหลังก็จะสว่างขึ้น จะสว่างมากสว่างน้อยขนาดไหนคุณเลือกเอง แต่ฉากหลังมาจากอิทธิพลของแสงต่อเนื่อง อาการสั่นไหวสามารถแสดงออกมาในภาพได้เหมือนเดิมถ้าสปีดชัตเตอร์ช้าไป
นั่นคือหลักการและวิธีคิดง่ายๆ ครับ
ส่วนจะโฟกัสแมลงกลางอากาศยังไง…นั่นคือหลักการและวิธีคิดยากๆ ครับ เล่าไปหลายรอบแล้ว เอาไว้เจอกันแล้วจะเล่าให้ฟัง เล่ายาวมาก เบื่อกันไปข้างนึงเลย 555
นั่นเป็นคำบอกเล่าของผู้ชายท่าทางใจดีชื่อ ปิยะฉัตร แกหลง ที่มีเทคนิคดีๆมาฝากมากมาย
เราเสริมภาพแมงมุมที่ใช้แฟลชเช่นกันแต่ไม่ได้เคลื่อนไหว เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
TAMRON SP90mm F/2.8 Di VC USD MACRO
• Canon EOS 5DSR • F/8 • 1/100 sec • ISO 200 • 50% Crop