TAMRON EXPERIENCE : หาเรื่องตัวเอง..ด้วยโจทย์ที่ยากขึ้น

ผมคิดยังไงเวลาถ่ายภาพน่ะเหรอ?

ยุคนี้อยู่ยาก…ถ้ายังทำอะไรตามกันไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ก็จะออกมาเดิมๆ ซึ่งแน่นอนว่าความน่าสนใจย่อมจะลดลง วิธีคิดของผมเป็นแบบนั้น เหยาะความโลภเพิ่มลงไปอีกหน่อย เท่าที่เราเคยเห็นภาพถ่ายการแสดงควงไฟก็จะเล่นกันที่จังหวะสว่างไสวน่าตื่นตา แต่ที่ไม่ค่อยจะเคยเห็นก็คือการที่เหวี่ยงไฟได้ครบวง …ถามว่ามีมั๊ย ก็ต้องตอบว่ามี และมีเยอะด้วย แต่เมื่อเทียบกับภาพแบบทั่วไปแล้วก็ถือว่ายังเป็นจำนวนน้อยอยู่ดี เมื่อวิธีคิดและความโลภของผมผสมกันเข้า สปีดชัตเตอร์ 0.5 วินาทีจึงถูกเลือกใช้ หลังจากที่ลองเริ่มด้วย 1/125 วินาที แล้วพบว่าภาพที่ได้ดูแบบว่าทั่วไปมาก

ผมจึงค่อยๆ ลดความไวชัตเตอร์ลงมาโดยท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าเราจะทำยังไงเพื่อให้กล้องอยู่นิ่งที่สุดด้วยมือเปล่าโดยที่สปีดชัตเตอร์ช้าลงเรื่อยๆ และท้ายที่สุดคือ 0.5 วินาที

ผมเลือกใช้มุมต่ำเรี่ยพื้นเพื่อให้ได้มุมสะท้อนน้ำเพิ่มเนื้อหาและความน่าสนใจให้กับภาพ ดังนั้นต้องประยุกต์วิธีจับถือกล้องว่าทำอย่างไรจึงจะถ่ายได้โดยที่ภาพยังคงนิ่งอยู่ ถ้ามีจอฟลิบได้ก็ควรใช้มันซะ ต้องขอบคุณความเก่งฉกาจของกล้อง FUJIFILM X-T5 ที่ใส่ระบบกันสั่นขั้นเทพเข้ามาให้ในตัวกล้อง จึงช่วยเพิ่มโอกาสการได้ภาพให้มากขึ้น อุปสรรคอีกอย่างก็คือ ผู้แสดงไม่ได้นิ่งอยู่กับที่ สปีดชัตเตอร์ระดับนี้ไม่ทางที่ผู้แสดงจะนิ่งสนิทแน่นอน

 

…ทำอย่างไรดี?

คำตอบก็คือ ถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ภาวนาไปด้วยว่ามันจะตรงกับจังหวะที่มีการหยุดนิ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดผมก็ได้จังหวะนั้นมาจริงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้หยุดนิ่งสนิทแต่ก็มองเห็นรูปร่างได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือ ไฟที่เหวี่ยงได้ครบรอบเป็นวงกลมน่าตื่นตาตื่นใจ สาสมกับความโลภแล้ว

หากนี่เป็นวันท่องเที่ยวที่คุณไม่ได้ตระเตรียมอุปกรณ์ขั้นเทพมาด้วย (ก็มันเป็นวันสบายๆ นี่ จะหอบหิ้วมาทำไม) คุณอาจจะนึกเสียดายที่อุปกรณ์ไม่สามารถตอบสนองสถานการณ์ยากๆ แบบนี้ได้

แต่ไม่ใช่กับเลนส์รุ่นนี้ เพราะถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็น “เลนส์อเนกประสงค์” แต่คุณภาพของภาพที่ถ่ายทอดให้กับเซนเซอร์รับภาพความละเอียดสูงของ X-T5 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็ไม่ธรรมดา แถมด้วยความเร็วของการทำงานในระดับที่น่าพอใจ ตามติดสถานการณ์นี้ได้ดีอย่างน่าแปลกใจเลยทีเดียว

ผมกดไปเรื่อยๆ ยุคนี้ก็เป็นอย่างนี้ที่เราสามารถถ่ายภาพได้มากๆ คำแนะนำของผมก็คือ ถ้าค่าการเปิดรับแสงเข้าที่แล้วคุณก็ควรถ่ายภาพไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องห่วงดูภาพว่าได้มั๊ยนะ จังหวะเมื่อกี้น่าจะดี ทันหรือเปล่าหว่า ฯลฯ

การแสดงจะเป็นไปเรื่อยๆ จบแล้วจบเลย แต่ภาพที่คุณถ่ายไปแล้วก็คือถ่ายแล้วถ่ายเลย การดูภาพระหว่างการแสดงไม่ได้ช่วยให้มันดีขึ้นมาได้ (ย้ำว่าค่าการเปิดรับแสงต้องเข้าที่แล้วนะ) ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ไม่ต้องห่วงการดูภาพ การแสดงจบแล้วค่อยไล่ดูทีหลังจะดีกว่า

อีกคำแนะนำก็คือ ควรเลือกใช้สปีดชัตเตอร์ที่เหมาะสมและระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการภาพที่ดูแตกต่างและอาจที่จะมีความโลภผสมเข้ามาด้วยอีกสักหน่อยนึง (เหมือนผมนี่แหละ) บางทีภาพแอ็คชั่นที่ดูน่าตื่นตาก็ไม่ได้มาจากการหยุดให้นิ่งสนิทด้วยสปีดชัตเตอร์สูงๆ ตรงกันข้าม…มันอาจจะมาจากสปีดชัตเตอร์ต่ำๆ ด้วยซ้ำไป แต่เพราะมันเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้ภาพ คนทั่วไปจึงไม่ค่อยจะทำกัน

ก็นี่รึเปล่า…โอกาสของคุณในโลกยุคนี้ที่ควรถ่ายทอดความแตกต่างอย่างตื่นตาเข้าไว้ครับ

 

– ปิยะฉัตร แกหลง –

 

FUJIFILM X-T5 • TAMRON 18-300mm F/3.5-6.3 DiIII-A VC VXD B061X • F/5.6 • 0.5 sec • ISO 640

 

 

%d bloggers like this: