TAMRON EXPERIENCE : การฝึกฝน…วิเคราะห์ และปรับตัวอย่างมืออาชีพ

กล้องและเลนส์ย่อมต้องการอีกปัจจัยหนึ่ง…นั่นก็คือการฝึกฝน

จะว่าไปแล้วงานอย่างมอเตอร์โชว์ในอีกฐานะอย่างไม่เป็นทางการก็คือสนามฝึกฝนการถ่ายภาพ…โดยเฉพาะภาพบุคคล
TAMRON 100-400 F/4.5-6.3 Di VC USD • Canon EOS 6D • @400mm • F/6.3 • 1/160 sec • ISO 1600
ระดับจริงจังและมืออาชีพก็ย่อมจะมีการใช้แฟลชติดไปด้วย หรือระดับจริงจัง(มากๆ) อาจจะมีอะไรที่อลังการยิ่งไปกว่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาแสงแข็งแสงแรงอันเป็นปกติของงานจัดแสดงสินค้า ซึ่งเป็นธรรมดาที่เงาก็ย่อมจะแข็งแกร่งไม่สวยงามตามไปด้วย
ผมเองถ้ามีโอกาสได้ไปก็มักจะไปแบบกล้องตัวเลนส์ตัว ไม่ใช้แฟลช เพราะผมไม่ค่อยถนัดกับการเข้าไปขอถ่ายภาพโดยตรง ผมชอบในแนวทางของภาพแคนดิดโดยใช้เลนส์ระยะเทเลโฟโต้จากระยะห่างมากกว่าการเข้าไปตรงๆ ทั้งนี้ไม่ใช่การโชว์เหนืออะไร แต่ผมอยากเข้าใจและฝึกฝนกับวิธีรับมือสถานการณ์เช่นนี้ว่าควรต้องทำอย่างไร

การถ่ายภาพลักษณะนี้ถ้าคุณตั้งใจจริงก็จะไม่ใช่ภาพที่ดูแย่อย่างที่หลายคนมักจะมอง แต่ประสบการณ์จากตรงนี้จะช่วยให้คุณนำไปใช้ในยามที่ต้องถ่ายภาพบุคคลอื่นๆ ในสถานการณ์ทั่วไปได้ด้วย

วิธีการจากประสบการณ์ที่ผมจะแนะนำก็คือ คุณควรมองหาน้องพริตตี้ที่ไม่ได้ยืนอยู่ที่ตำแหน่งใต้แสงโดยตรง เพราะลักษณะเช่นนั้นก็แทบไม่ต่างจากการถ่ายภาพกลางแจ้งตอนเที่ยงวันที่จะปรากฏแสงเงาอันไม่น่าดูเต็มทั่วใบหน้า ตำแหน่งที่ห่างออกมาจากแหล่งแสงโดยตรงเหล่านั้นจะช่วยให้ลักษณะแสงเงาดูนุ่มนวลมากกว่า สีผิวดูนวลเนียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะไม่มีเงาแข็งๆ มาก่อกวน แต่ถ้าออกห่างจากแหล่งแสงมากเกินไปภาพก็จะแบนเพราะขาดมิติแสงเงา

ดังนั้นผมแนะนำบริเวณที่อยู่ในตำแหน่งขอบของแสง (Falloff) ซึ่งแสงจะยังคงมีมิติอยู่บ้างแต่เงาแข็งลดน้อยลงมาก ซึ่งที่ปริมาณแสงเช่นนี้จะดีต่อระบบการวัดแสงของกล้องที่จะเปิดรับแสงโดยเกลี่ยสีผิวได้ดีด้วย

แน่นอนครับว่าการมองแสงแบบนี้ให้ออกอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะในงานลักษณะนี้ย่อมมีแหล่งแสงมากมาย วิธีง่ายๆ สำหรับฝึกฝนเบื้องต้นก็คือ อย่าให้ยืนอยู่ใต้แสงที่ลงจากด้านบนตรงๆ แต่ขยับออกไปจากตรงนั้น จะซ้ายขวาหน้าหลังก็ดูตามความเหมาะสมของพื้นที่ อีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยได้มากก็คือการใช้อุปกรณ์สนามแถวนั้นช่วย “Bounce” หรือสะท้อนแสงบางส่วนมาช่วยลดเงาที่ใบหน้า เช่น รถสีขาวหรือสีอ่อน ก็ให้ไปยืนที่ข้างรถคันนั้น รถสีเหลืองสีแดงอาจจะเหมาะกับสีผิวที่ต่างกันของแต่ละคน แต่ในทางกลับกันคุณต้องสังเกตด้วยว่ารถบางสีย่อมไม่เป็นผลดีนักเมื่อสะท้อนแสงสีเข้ามาที่ใบหน้า เช่น สีเขียวเป็นต้น ควรเลี่ยงไปครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่มักใช้ได้ดีก็คือ โต๊ะหรือเคาน์เตอร์ที่พื้นผิวเป็นสีขาว ซึ่งมันจะทำตัวราวเป็นประหนึ่ง Reflex เลยทีเดียว ถ้านั่งอยู่ตรงนั้นพอดีมันก็แทบจะพร้อมแล้วล่ะ

วิธีการเช่นนี้จะช่วยได้มากเมื่อเราถ่ายภาพโดยใช้แสงจากสภาวะแวดล้อม ซึ่งงานลักษณะนี้ย่อมจะมีแสงแข็งๆ เป็นปกติ มันดีต่อสินค้าแหละครับแต่ไม่ดีต่อผิวคนแน่นอน ดังนั้นนักถ่ายภาพควรต้องเลี่ยงไปแล้วหาทางทดแทน ซึ่งวิธีที่บอกมานี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น เลนส์ระยะเทเลโฟโต้จะช่วยละลายฉากหลังได้มาก โดยเฉพาะถ้ามันเป็นเลนส์ขนาดเล็กก็จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวและไม่สะดุดสายตามากนัก แถมเทคนิคให้อีกนิดถ้าคุณชอบแนวแคนดิด คุณอยู่ในมุมที่เลือกมาแล้วว่าแสงเงาดี ฉากหลังได้ รอสักนิดนึง ไม่ต้องแสดงออกชัดเจนว่ากำลังรอถ่ายภาพ รอจังหวะที่มีช่างภาพคนอื่นกำลังขอถ่ายโดยตรง จังหวะนั้นแหละครับที่จะเป็นโอกาสทองเพราะเค้ากำลังมองกล้องอื่นอยู่ ภาพก็จะก้ำกึ่งระหว่างสวยพร้อมและทีเผลอซึ่งเป็นผลดีกว่าการยกถ่ายไปเรื่อยครับ

ปล. …นอกจากจะเป็นวิธีคิดของฝ่ายคนหลังกล้องแล้ว คนหน้ากล้องจะเอาเทคนิคการมองแสงนี้ไปใช้ด้วยนะว่าควรจะเลือกตำแหน่งแห่งที่อยู่ของตัวเองอย่างไรถึงจะดีต่อการถ่ายภาพ (ถ้าเลือกได้) ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ        

ปล. อีกที… อย่าลืมว่าเราควรถ่ายภาพแต่พอเหมาะ ไม่ไปรบกวนการทำงานอันเป็นหน้าที่หลักของน้องเค้านะครับ ช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ของนักถ่ายภาพด้วย

%d bloggers like this: