TAMRON TURN PRO : MTF อ่านเป็นแล้ว…สนุก

MTF คืออะไร

MTF (Modulation Transfer Function) เป็นการวัดค่าคอนทราสต์ของชาร์ตทดสอบเพื่อตรวจวัดผลการถ่ายทอดคอนทราสต์บนชาร์ตทดสอบว่าเลนส์รุ่นนั้นๆ สามารถแยกระดับคอนทราสต์(เส้นดำบนพื้นขาว) ได้ชัดเจนเพียงใด เลนส์ที่มีคุณภาพสูงจะสามารถแยกความแตกต่างของสีดำกับขาวได้ชัดเจน ซึ่งมันก็คือกำลังการแยกเส้น (Resolution) ของเลนส์นั่นเอง ส่วนเลนส์คุณภาพตํ่าจะไม่สามารถแยกเส้นสีดำออกจากพื้นสีขาวได้ มันจะไม่เป็นเส้นคมแต่ส่วนของเส้นสีดำจะเบลอที่ขอบเส้นแล้วค่อยๆ ไล่โทนเป็นสีเทาเข้ม เทาอ่อนจนถึงขาว นั่นแสดงว่ากำลังการแยกเส้นตํ่า (ความคมชัดจึงตํ่า)

ชาร์ตที่ใช้ทดสอบจะเป็นเส้นดำบนพื้นขาว เพราะสามารถตรวจสอบผลได้ชัดเจนกว่า และหากมีอาการสีเหลื่อมก็จะเห็นได้ชัด เส้นจะมีสองขนาด(หรืออาจมากกว่า) เส้นใหญ่หนาใช้วัดค่าที่ 10 lines/mm ไม่ได้ใช้วัดกำลังแยกเส้นแต่ใช้วัดคอนทราสต์ของภาพจากพื้นที่กลางภาพจนถึงขอบภาพ จากรูรับแสงกว้างและที่ F8 ส่วนเส้นเล็กจะจะใช้วัดค่าที่ 30 lines/mm ใช้ในการตรวจสอบกำลังแยกเส้น วัดความคมชัด

การจัดวางเส้นจะเป็นสองแกน คือเส้นที่วางขนานกับเส้นผ่าศูนย์กลางของภาพเรียงต่อๆ กัน เราเรียกกันว่า Meridional (บางแห่งเรียกว่า Tangential) ซึ่งจะแสดงผลบนชาร์ต ด้วยเส้นประ ส่วนเส้นที่วางแนวตั้งฉากกับเส้นผ่าศูนย์กลางเราเรียกว่า Sagittal (Radial)แสดงผลบนชาร์ตด้วยเส้นทึบ ที่ต้องมีเส้นทั้งสองแกนก็เพราะกำลังการแยกเส้นของเลนส์ในพื้นที่เดียวกัน อาจจะแยกเส้นแนวนอนกับเส้นแนวตั้งได้ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความบกพร่องของเลนส์บางอย่างที่นอกเหนือไปจากเรื่องความคมชัด 

 

MTF สามารถใช้ตรวจสอบอะไรได้บ้าง
1. กำลังการแยกเส้นของเลนส์ (ตั้งแต่กลางภาพจนถึงขอบสุดของภาพ ที่รูรับแสงกว้างสุด และที่ F8)
2. คอนทราสต์หรือความเปรียบต่างของเลนส์ (ตั้งแต่กลางภาพจนถึงขอบสุดของภาพ ที่รูรับแสงกว้างสุด และที่ F8)
3. Astigmatism และ ความคลาดสี
4. Field Curvature(ภาพระนาบโค้ง)
5. Focus Shift

 

แต่หลักๆ แล้วเราจะใช้ตรวจสอบกำลังการแยกเส้นของเลนส์มากกว่าอย่างอื่น โดยสามารถอ่านค่าได้ดังนี้
จากชาร์ตจะแบ่งแนวตั้งเป็น 10 ส่วน บางยี่ห้อจะแสดงตั้งแต่ค่าสูงสุด 100% ลงมาที่ 90%, 80%, 70% จนถึงตํ่าสุดที่ 0 แต่บางยี่ห้อค่าสูงสุดจะเป็น 1.0 แล้วลงมาเป็น 0.9, 0,8, 0.7 จนถึงตํ่าสุดที่ 0 เส้นกราฟยิ่งสูงแสดงว่าคุณภาพยิ่งดี ความคมชัดสูง แยกเส้นได้ชัดเจน ถ้าจะเป็นคำพูดก็ประมาณนี้ครับ ที่ 100% คือสุดยอด ภาพคมที่สุด 90% คือ ยอดเยี่ยม คมกริบ 80% คือดีมาก 70% คือดี 60% คือค่อนข้างดี 50% คือพอใช้ 40% คือพอยอมรับได้ 30% คือค่อนข้างแย่ 20% คือแย่ 10% คือแย่มาก

ส่วนแนวนอนจะเป็นระยะทางจากกลางภาพ(0) ที่ตำแหน่ง 5 คือ 5 มม.จากกลางภาพ(ในทุกแกน) 10 คือ 10 มม. จากกลางภาพ (ที่ 13.5 มม.จะเป็นขอบภาพของเซ็นเซอร์ขนาด APS-C ผู้ผลิตเลนส์บางยี่ห้อเช่น Tamron จะแสดงไว้ให้ผู้ใช้ทราบว่าถ้าเอาเลนส์ตัวนี้ไปใช้กับกล้อง APS-C จะได้คุณภาพที่ขอบภาพตามที่แสดงไว้บนมาร์ค) ที่ 18 มม.จะเป็นขอบภาพด้านซ้ายและขวาของเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ส่วนที่ 22 มม.จะเป็นขอบสุดของภาพบนเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม การดูผลด้านคุณภาพจึงต้องดูทั้งส่วนกลางภาพ ขอบภาพแนวนอน และขอบสุดของแนวทแยงมุม ส่วนเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าฟูลเฟรม เช่น APS-C หรือ Micro Four Thirds ระยะจะออกมาน้อยกว่าฟูลเฟรม

 

MTF Chart มักจะมี 2 ชาร์ตคือ วัดจากรูรับแสงกว้างสุด และจากการหรี่รูรับแสง (ซึ่งมักจะวัดที่ F8) ดังนั้นจึงควรดูผลทั้งสองชาร์ตว่าเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุดผลเป็นอย่างไร ที่ F8 ผลเป็นอย่างไร ได้คุณภาพเต็มที่แค่ไหน

เส้น 10 lines/mm ใช้ในการตรวจสอบคอนทราสต์ อย่างเช่น ถ้าเส้นอยู่สูงเช่น 90% ที่บริเวณกลางภาพแล้วค่อยๆ ลาดลงไปเป็น 80% ที่ขอบภาพเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด แสดงว่าเลนส์รุ่นนี้คอนทราสต์กลางภาพสูงแต่คอนทราสต์จะลดลงบ้างที่ขอบภาพ ส่วนเลนส์อีกรุ่นเส้น 10 lines/mm อยู่ที่ 70% ทั้งกลางและขอบแสดงว่าเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างภาพจะมีคอนทราสต์ตํ่า (แต่สำหรับความคมชัดต้องดูที่เส้น 30 lines/mm ถ้าตํ่ากว่าเส้น 10 lines/mm ลงมาอีกแสดงว่านอกจากจะคอนทราสต์ตํ่าแล้ว ความคมชัดยังตํ่าด้วย)

เลนส์ที่ดีจะต้องมีเส้น 10 lines/mm ที่สูงเกิน 90% ที่กลางภาพและควรเกิน 80% ที่ขอบภาพเพื่อให้คอนทราสต์ของภาพที่รูรับแสงกว้างสุดสูงพอที่เลนส์จะถ่ายทอดความอิ่มสีได้เต็มที่ ส่วนเส้น 30 lines/mm สำหรับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F1.2, F1.4, F2 ควรสูงกว่า 60% ที่กลางภาพและเกิน 40% ที่ขอบภาพ ส่วนเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F2.8 หรือ F4 ควรสูงกว่า 70% ที่กลางภาพและเกิน 50% ที่ขอบภาพ

 

ส่วนเส้นทึบ (Segittal) และเส้นประ (Meridional) ที่ชิดกันหรือห่างกันมีผลอย่างไรกับภาพนั้น คำตอบคือ หากห่างกันจะเกิดปัญหาเรื่อง Astigmatism ซึ่งจะทำให้เกิดความคลาดสี และ Coma Flare (จุดสว่างบนภาพเช่น หลอดไฟ ดวงดาว ไม่เป็นจุดกลม แต่จะเกิดเป็นหางแลบออกคล้ายปีกนก) ดังนั้นเลนส์ที่ดีจึงควรมีเส้นทึบกับเส้นประที่ชิดๆ กัน โดยเฉพาะเลนส์มุมกว้างที่เน้นเอาไว้ถ่ายภาพดาว ภาพทางช้างเผือก ซึ่งต้องเปิดรูรับแสงกว้าง เช่น F2.8 หากต้องการภาพดวงดาวที่คมชัดเป็นจุดสว่างทรงกลม จึงต้องเลือกเลนส์ที่เส้นทึบและเส้นประของ 30 lines/mm ชิดกันทั้งกลางภาพและขอบภาพ โดยขอบภาพถ้าอยากได้ภาพคมชัดด้วย เส้นทึบและประจะต้องไม่ตํ่ากว่า 50% 

 

ลองเปิดสเปคเลนส์แล้วทำความใจตามดู แล้วจะทราบว่าเลนส์ Tamron ที่ใช้อยู่ไม่ธรรมดานะครับ