TAMRON…PRO TRICK

พระเอกของเรื่องนี้มีสองตน…

สำหรับการถ่ายภาพแนวนี้คุณจำเป็นต้องมองหาสองปัจจัยหลักให้เจอก่อนครับ มิฉะนั้นมันก็จะไม่ได้สื่ออารมณ์ของภาพออกมาในแบบ “ต้มทะเล” หนึ่งนั้นคือ วัตถุที่อยู่นิ่งกับที่ สองนั้นคือ น้ำที่เคลื่อนไหวซัดใส่วัตถุหนึ่ง

ไปตีความหมายของ หนึ่งของภาพนี้ก็คือ โขดหิน สองนั้นก็คือ น้ำทะเลซัดสาด ”

ผมไม่ได้ใช้คำว่า หนึ่งคือหิน สองคือน้ำทะเล เพราะโดยวิธีคิดแล้วก็คือ มันจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหินเท่านั้น หรือไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำทะเลเท่านั้น นั่นก็เพราะถ้าเราพูดถึงวิธีคิดละก็ มันเป็นแนวภาพชนิดที่ลักษณะของตัวแบบขัดแย้งกันเองระหว่างความพริ้วไหวกับความนิ่งสนิท ดังนั้นคุณจะใช้คนยืนแช่น้ำก็ได้ เรือ เปลือกหอย เครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำ ฯลฯ สุดแท้แต่จะหามาได้ ภาพอารมณ์นี้ก็ลักษณะเดียวกับที่เราถ่ายภาพน้ำตกนั่นแหละครับ มีส่วนที่พริ้วไหว มีส่วนที่นิ่งสนิท หรือแม้กระทั่งภาพ Cityscape ที่เส้นแสงไฟจากการจราจรบนท้องถนนพริ้วไหวในขณะที่ตึกรามบ้านช่องนิ่งสนิท

การที่จะทำให้เกิดภาพลักษณะนี้ได้ก็ต้องใช้สปีดชัตเตอร์นาน ฝรั่งเรียกว่า “ลากชัตเตอร์” (Drag Shutter) เราจึงมักจะเซ็ทกล้องอยู่บนขาตั้ง ผมไม่ใช่คำว่า “ต้อง” ใช้ขาตั้ง เพราะบางทีคุณอาจจะวางกล้องบนโขดหิน รั้วปูน กิ่งไม้ เสา โทรศัพท์ หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ทำให้กล้องเคลื่อนไหว

บร๊ะ! วิธีของตาคนนี้แปลกๆ วุ้ย

นั่นแหละครับ แนวคิดของภาพทำนองนี้ก็เป็นเช่นนั้น คุณต้องมีตัวเอกสองตนเข้ามาร่วมกัน สำหรับภาพในแนวต้มทะเลที่เค้ามักจะเรียกกันก็จะทำให้เกิดความแปลกตาที่ดูเหมือนจะมีสายหมอกลอยอ้อยอิ่งอยู่ที่ฐานล่างของโขดหิน ซึ่งมันเกิดจากการเปิดรับแสงนาน เมื่อคลื่นซัดสาดเข้ามาพร้อมฟองสีขาวๆ มันก็จะระบายแสงสว่างลงไปจากการที่ไม่อยู่นิ่งของมัน ก็เลยเกิดเป็นความพร่ามัวจากความเคลื่อนไหวที่ขาวโพลน แต่มันขาวโพลนเฉพาะที่ก็เลยดูเหมือนสายหมอกขาวๆ ไปซะอย่างงั้น ดังนั้นเมื่อคุณต้องลากชัตเตอร์นาน ศัตรูของคุณก็คือ “แสงสว่าง” นั่นเองครับ เพราะยิ่งมีปริมาณแสงสว่างมากเท่าไหร่ภาพก็ยิ่งเสี่ยงต่อการ “โอเวอร์” (Over Exposure) มากเท่านั้น

ทางแก้ก็คือ คุณต้องถ่ายภาพในช่วงที่มีแสงน้อย เช่น เช้ามืดเช้าตรู่ หรือเย็นย่ำค่ำลง อะไรประมาณนั้น หรือใช้ฟิลเตอร์ลดแสงชนิดต่างๆ เช่น ND เป็นต้น เพื่อให้แสงเข้าได้น้อยลงจะได้ลากชัตเตอร์ได้นานขึ้น

นึกภาพออกใช่ไหมล่ะว่าถ้าลากชัตเตอร์ตอนเที่ยงแดดเปรี้ยงมันจะเกิดอะไรขึ้น?

ภาพนี้ผมถึงกับต้องใช้สองช๊อตเข้ามาซ้อนกัน หนึ่งก็คือ ส่วนล่างที่ลากชัตเตอร์นาน สองก็คือ ส่วนท้องฟ้าที่สว่างกว่า ภาพแรกจึงเปิดรับแสงนาน แต่ภาพสองเปิดรับแสงแป๊บเดียวเพื่อไม่ให้ท้องฟ้าโอเวอร์ แล้วก็นำส่วนดีของทั้งสองภาพมารวมร่างเข้าด้วยกัน หมอกของคุณจะมาน้อยแค่ไหนก็ต้องดูปัจจัยของน้ำทะเลด้วยครับ ถ้าคลื่นแบบว่าอ้อยอิ่งไร้อารมณ์มันก็ต้องเปิดรับแสงนานนนนน เผลอๆ ไม่เกิดหมอก อย่างที่ต้องการเข้าให้อีก แต่ถ้าคลื่นถาโถมกระหน่ำซ้ำเติม มันก็จะเกิดความหมอกได้ไวโดยที่แทบไม่ต้องลากชัตเตอร์นาน ถ้านึกดีๆ สภาพที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บภาพลักษณะนี้ก็คือ เมื่อเวลาที่มีพายุจริงไหมล่ะครับ ท้องฟ้ามืดครึ้มทำให้มีแสงน้อยกว่า ลมพัดอื้ออึงทะเลเป็นบ้ายิ่งทำให้คลื่นแรง แหม่! แป๊บเดียวหมอกมาเลย แต่ข้อเสียก็คือ แสงจะเน่าหนอนขาดมิตินั่นเอง

ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการใช้แสงประดิษฐ์ทั้งหลายแหล่ฉายเข้าไปที่ตัวโขดหินครับ หรือผู้มากฝีมือก็มาละเลงในขั้นตอนโปรเซสเพื่อทั้งสีสันและมิติแสงเงาเข้าไปอีก ก็ว่ากันไป ทั้งหมดนี้เป็นวิธีคิดครับ

อ้อ! คุณต้องรู้จักการจัดองค์ประกอบภาพเป็นอย่างดี ไม่อย่างนั้นแล้วมันก็จะกลายเป็นภาพที่ดูน่าสนใจแต่ไม่ค่อยสวย ลองหาจังหวะหินรูปทรงแจ่มๆ น่าสนใจเข้าไว้ก่อน หรือถ้าไม่รู้อะไรเลยก็หามุมที่มันจะมีจุดเด่นขนาดใหญ่เข้ามาไว้ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของภาพเข้าไว้ครับ

ไปเที่ยวทะเลครั้งต่อไป คุณอาจจะว้อนท์ทะเลที่มีโขดหินตั้งเรียงรายเป็นอุปสรรคต่อการลงเล่นน้ำอย่างยิ่ง แต่มันถ่ายรูปสนุกเป็นบ้าเลยเชียวล่ะ

ขอขอบคุณ : คุณปิยะฉัตร แกหลง ที่นำเรื่องราวดีๆมาฝากพวกเราเป็นประจำ

Gear : TAMRON 17-28mm F/2.8 Di III RXD • Sony A7R mark II • 2 shots composite