“ พลุงามอร่าม…สวนหลวง ร.9 ” ขอนำทุกท่านย้อนเวลา…กลับไปชมภาพบรรยากาศพลุตระการตาในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 ที่มีนักถ่ายภาพไปร่วมตัวแบบนัดหมายกันอย่างล้นหลามเป็นประจำทุกปี ผ่านคมเลนส์ Tamron หลากหลายช่วงทางยาวโฟกัส อาทิ 17-28mm F/2.8 Di III RXD (Model A046), SP 15-30mm F/2.8 Di VC USD G2 (Model A041)

 

 

“หากเป็นเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมาทุกปี 10 ธันวาคม พลุจะจุดในเวลาประมาณหนึ่งทุ่มตรง รถในถนนโดยรอบจะติดขัดมากมายมหาศาล ยิ่งใกล้เวลาก็จะยิ่งหาที่จอดรถยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย” ถ้อยคำจากปากของคุณกิ๊ก ปิยะฉัตร แกหลง ที่พูดถึงงานพลุสวนหลวง ร.9 ที่เป็นงานประจำปีอีกงานหนึ่งในกรุงเทพที่จะเฝ้ารอชมดอกไม้ไฟของคนไทยกันแบบถึงอกถึงใจ จุดกางขาตั้งมีมากมายรายรอบบึงครับ มุมเด่นๆ ก็จะมีผู้ร่วมแจมเยอะหน่อย มุมธรรมดาก็อาจจะสบายหน่อย และน่าจะยังมีมุมที่ไม่ใช่มหาชนอีกเยอะแยะ ดังนั้นควรเผื่อเวลามาดูมุมสักหน่อยก็จะดี นี่เป็นเรื่องของการหาทำเลปักขาตั้งกล้อง ส่วนเรื่องของการถ่ายภาพพลุ มักแนะนำให้ใช้สายลั่นชัตเตอร์เป็นหลัก แม้ทุกวันนี้จะมีแอพพลิเคชั่นมาช่วยอำนวยความสะดวกให้เรา เพราะอะไรไปฟังกัน…

โดยประสบการณ์แล้ว…ไม่มีอะไรชัวร์เท่าสายลั่นชัตเตอร์ชนิดเสียบสายเข้ากล้องอีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องอยู่ในจุดที่มีผู้คนมากมาย มีการใช้สัญญาณความถี่ประเภทต่างๆ มหาศาล ซึ่งแปลว่าจะมีสัญญาณรบกวนอยู่รายรอบเต็มไปหมด ถ้าคุณเคยเจอว่ากดรีโมทหรือมือถือแล้วติดมั่งไม่ติดมั่งก็นั่นล่ะครับ ผมเคยโดนแบบนี้ไปครั้งสองครั้งก็เลิกเลย ตั้งแต่นั้นมาเป็นต้องไปหาสายลั่นมาใช้ และด้วยความที่ต้องทดสอบกล้องหลากหลาย สายลั่นก็เลยหลากหลายเต็มไปหมด …ทุกอันอยู่หมด ยกเว้นอันที่จะใช้

 

 

กล้องของคุณอาจจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้า แต่โปรดพิจารณาเรื่องสัญญาณรบกวนในยามอยู่ท่ามกลางมหาชนคนหมู่มากให้ดีครับ ตอนเทสต์อาจจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อถึงเวลาที่ทุกคนรุมกดพร้อมกัน ชาวบ้านชาวช่องก็ Live ผ่านมือถือกันเต็มไปหมด สัญญาณ Bluetooth วิ่งพล่านไปทั่ว เมื่อนั้นละครับ ตัวใครตัวมัน นี่เป็นคำเตือนจากคุณกิ๊ก

เรื่องของสายลั่นชัตเตอร์เป็นของคู่กันเลยกับการถ่ายภาพประเภทนี้มีทั้งแบบกดปุ่มค้างเป็นชัตเตอร์ B แล้วนับเวลาเอง กับแบบตั้งเวลาแสดงค่าผ่านจอแสดงผลเล็กๆในตัวให้แบบอัตโนมัติสามารถเลือกใช้แบบไหนก็ได้ แตกต่างเรื่องราคาเป็นหลัก

ส่วนขาตั้งกล้องแนะนำว่าควรเลือกประเภทที่แข็งแรง มั่นคง มิเช่นนั้น จะนั่งเสียใจตอนเปิดดูภาพแล้วพบว่ามันไม่คมชัด เนื่องจากความสั่นไหวขณะที่บันทึกภาพนั่นเอง

 

 

สุดท้าย ไม่ต้องรีบร้อนเช็คภาพทุกใบ เพียงแค่ตรวจสอบว่าโฟกัสเข้าไหม องค์ประกอบภาพดีหรือยัง จากนั้นเมื่อพลุลูกแรกจุดขึ้น… รีบดูว่าพลุมันล้นเฟรมไหม เพราะเหลือดีกว่าขาดนะ ถ้าล้นเฟรมก็รีบซูมเลนส์ให้กว้างขึ้น แต่หากเลนส์กว้างไม่พอก็พยายามเงยกล้องเก็บส่วนบนไว้ก่อน ยังมีพลุวันปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ รอให้คุณได้แก้มืออยู่ ดังนั้นเตรียมร่างกาย และอุปกรณ์ให้พร้อมรับรองว่าภาพสวยๆต้องอยู่ในเมมโมรี่การ์ดคุณแน่นอน…

 

 

 

%d bloggers like this: