REVIEW TAMRON 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (Model A057)

เลนส์อัลตร้าเทเลโฟโต้ซูมรุ่นแรกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสำหรับคนรักชีวิตกลางแจ้ง

TAMRON พัฒนาออกแบบเลนส์อัลตร้าเทเลโฟโต้ซูมใหม่สำหรับกล้องในระบบ Sony E-mount ถือเป็นรุ่นแรกของอนุกรมนี้ ซึ่งมีระยะทางยาวโฟกัสที่ครอบคลุมตั้งแต่ระยะใกล้จนถึงระยะไกล มีความน่าสนใจในเรื่องของขนาด น้ำหนัก และประสิทธิภาพของเลนส์ที่ทำการบ้านมาอย่างดี เพื่อให้นักถ่ายภาพที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้งมีความสุขจากการพกพาเลนส์ Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) ไปใช้งานในแต่ละครั้ง ทางแอดมินได้มีโอกาสนำออกไปบันทึกภาพพร้อมกับกล้อง Sony A7III จึงอยากแชร์ประสบการณ์จากการนำเลนส์รุ่นนี้ไปใช้งานในภาคสนามมาเล่าสู่กันฟัง…


Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.7, 1/5000 sec, ISO1000 @ 500mm

แรกสัมผัสเลนส์ Ultra-Telephoto Zoom…ที่รอคอย

นับตั้งแต่มีการประกาศเปิดตัวเลนส์ Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) ออกมาเชื่อว่าจะมีแฟนๆหลายท่านต่างรอคอยจะได้สัมผัสเลนส์ตัวจริง เพราะเลนส์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในอนุกรม E-mount นั้นมีถึงแค่ช่วงเทเลโฟโต้กลางๆยังไม่สะใจสายOutdoorเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็น Tamron 70-180mm F/2.8 Di III VXD (Model A056)หรือ Tamron 70-300mm F/4.5-6.3 Di III RXD (Model A047) เมื่อเลนส์ตัวจริงมาถึงจึงไม่รอช้าที่จะหยิบมาประกอบเข้ากับบอดี้เพื่อทดลองประสิทธิภาพเบื้องต้น ซึ่งสิ่งที่สัมผัสได้ชัดคือ ขนาดเลนส์ 93 x 209mm สามารถพกใส่กระเป๋ากล้อง แบบสะพายข้าง (Shoulder bag) ใบกะทัดรัดไม่ใหญ่ได้  ไม่ว่าจะวางในลักษณะคว่ำเลนส์ลง หรือวางในแนวนอนพร้อมบอดี้ก็ได้ การมีคอลล่าร์ (Collar) ในตัวที่สามารถถอดออกได้ช่วยให้คล่องตัวในการHandheld ส่วนน้ำหนักเลนส์จะอยู่ที่ 1,725 กรัม ไม่รวมคอลล่าร์อีก 155 กรัม เมื่อทราบน้ำหนักอาจจะแอบมองว่าหนักเหมือนกันนะ…แต่มันกลับถูกจัดเรียงโครงสร้างต่างๆภายในให้มีความสมดุลอย่างที่ไม่สามารถหาได้จากเลนส์ตัวไหนง่ายๆ และอย่าลืมว่า นี่คือเลนส์ระดับ “ ULTRA-TELEPHOTO ” ที่มีช่วงระยะซูม 3.3 เท่า


ความพิเศษของโครงสร้างเลนส์…

มาต่อกันที่ภายในกระบอกเลนส์นั้นได้รับออกแบบโครงสร้างเลนส์ให้ประกอบด้วย ชิ้นเลนส์ 25 ชิ้น 16 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์ XLD (eXtra Low Dispersion) จำนวน 1 ชิ้น, ชิ้นเลนส์ LD ( Low Dispersion)จำนวน 5 ชิ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการลดความคลาดต่างๆทั้งคลาดสี คลาดแสง ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และยังมีชิ้นเลนส์ Hybrid Aspherical จำนวน 2 ชิ้น มาช่วยแก้ดิสทอชั่นที่มีโอกาสเกิดขึ้นในเลนส์ซูมด้วย ผิวด้านหน้าเลนส์มีการเคลือบผิว แบบ Fluorine และ BBAR G2 (Broad-Band Anti-Reflection) ช่วยลดการเกิดแสงสะท้อน และคราบสกปรกที่จะมาเกาะหน้าเลนส์ อีกทั้งสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย เลนส์รุ่นนี้ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 82มม. ภายในกล่องจะมี Hood มาให้พร้อม โดยที่ขอบด้านหน้าฮู้ดออกแบบให้มียางป้องกันการกระแทก และรอยขีดข่วนเมื่อวางคว่ำเลนส์ลงกับพื้น… เรียกว่าคิดมาเผื่อตอนนำออกไปใช้งานจริงๆแล้ว


Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/16, 1/30 sec, ISO100 @ 500mm, Mode APS-C/Super 35mm

ประกอบเลนส์ไปวางบนหัวGIMBAL …ถ่ายภาพพระจันทร์

สำหรับภาพแรกที่กดชัตเตอร์เป็นเรื่องเป็นราวก็เป็นภาพพระจันทร์ ซึ่งเชื่อว่าช่างภาพที่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆแบบนี้ไม่พลาดที่จะทดสอบเช่นกัน เนื่องจากสิ่งที่มักเป็นปัญหาสำหรับเลนส์ซูม ก็คือเรื่องกระบอกเลนส์จะไหลเมื่อใช้งานในมุมก้ม หรือเงยมากๆ ทาง Tamron จึงออกแบบระบบ Flex Zoom Lock สำหรับล็อกกระบอกเลนส์ได้ทุกช่วงซูม ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าทางยาวโฟกัส เวลาเก็บเลนส์ก็มีสวิทช์ Lock สำหรับตอนเก็บเลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัสใกล้สุด(150mm) ในครั้งนี้ก็ต้องปรับมุมกล้องให้เงยขึ้นไปทำมุมเกือบ 90 องศา ดังนั้นหากกระบอกเลนส์มีการขยับก็จะมีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาต้องแพนเลนส์ตามการเคลื่อนที่ของพระจันทร์ การที่ได้อุปกรณ์หัวขาตั้งกล้องแบบ Gimbal Head ช่วยให้เราเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพมากขึ้น เพราะการใช้หัวบอล หรือหัวแพน ที่ไม่สามารถขยับเปลี่ยนองศาแบบนุ่มนวลได้ทีละนิด และช่วยผ่อนน้ำหนักอุปกรณ์ให้เราจะทำให้การถ่ายภาพต้องคอยรั้งน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็อาจเกิดอารมณ์หงุดหงิดได้

อ้อ! จุดเชื่อมต่อกับหัวขาตั้งทาง Tamron ออกแบบ Tripod Mount ให้มีการเซาะร่องบริเวณฐานกว้างเท่ากับมาตรฐานของ Arca-Swiss ที่ได้รับความนิยมในขาตั้งกล้องทุกวันนี้ โดยมีน้ำหนักเบาเพียง 155 กรัม เนื่องจากใช้วัสดุเป็นแม็กนีเซียม อัลลอยด์ (Magnesium Alloy) ในการผลิตจนมีความแข็งแรง ทนทาน แต่มีน้ำหนักเบา บริเวณด้านข้างทั้งซ้ายและขวาจะออกแบบช่องใส่สายสะพายเผื่อเอาไว้ให้สำหรับคล้องสายสะพายเลนส์ช่วยลดอาการเมื่อยล้ายามใช้งานเป็นเวลานาน


ภารกิจล่า(ภาพ) สัตว์ปีก… สุดท้าทาย

เพื่อเป็นการทดสอบระบบมอเตอร์โฟกัส แบบ VXD (Voice-coil eXtreme-torque Drive) ที่นำมาใช้ในเลนส์รุ่นนี้ต่อจากเลนส์ Tamron 70-180mm F/2.8 Di III VXD (Model A056) จึงพุ่งเป้าหมายไปยังวัตถุที่มีการเคลื่อนไหว เรียกว่าลองของโหดให้รู้กันไปเลย รวมถึงการลองเปิดระบบ Animal AF ว่าจะหวังผลกับเป้าหมายประเภทไหนได้บ้างนอกจากน้องหมาและน้องแมวที่เราทราบกันดีอยู่ก่อนแล้ว

Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/5.6, 1/2000 sec, ISO320 @ 296mm, Continuous Shooting, Focus Area : Wide

“ นกมีหู หนูมีปีก ” ใช้เวลาปรับตัวอยู่พักใหญ่ กับการจับจังหวะทิศทางการบินจากต้นไม้ฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ด้วยการ Handheld ระบบโฟกัสเลือกจับที่ดวงตาของค้างคาวอย่างแม่นยำ แต่ในมุมย้อนแสงก็ต้องเปลี่ยนระบบเป็นแบบ Zone เพราะตัวแบบถูกลดทอนรายละเอียดเกือบจะเป็นภาพแนว Silhouette ไปแล้ว สิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่องคงหนีไม่พ้น… Shutter Speed ต้องคอยควบคุมค่าให้เร็วเพียงพอต่อการหยุดการเคลื่อนที่ของค้างคาวเพราะส่งผลในเรื่องของความคมชัด หากพลาดเราอาจไปมองว่าเกิดจากอุปกรณ์ Error แทนที่จะคิดว่าเป็นความผิดพลาดจากตัวเราเอง ระหว่างที่บันทึกภาพก็มีโอกาสหมุนซูมเปลี่ยนระยะทางยาวโฟกัสอยู่บ่อยครั้ง รู้สึกได้ทันทีถึงวงรอบของการซูมมันไม่เหมือนเลนส์อื่นๆที่เคยใช้มา พอเปิดข้อมูลก็เป็นจริงอย่างที่รู้สึกเพราะเลนส์รุ่นนี้มีรอบการหมุนจากช่วง 150mm จนถึง 500mm เพียง 75 องศาเท่านั้น!!! จึงช่วยย่นระยะทางและระยะเวลาในการเปลี่ยนทางยาวโฟกัสให้คล่องตัวมากขึ้น


Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.3, 1/1600 sec, ISO250 @ 300mm, Continuous Shooting, Focus Area : Wide

พอเปลี่ยนมาถ่ายภาพนกนิ่งๆ ก็กลายเป็นเรื่องขนมเลย เนื่องจากตำแหน่งโฟกัสขยับตามการโยกหัวของนกได้แบบหนึบหนับ ไม่อยากคิดเลยว่าถ้าใช้บอดี้รุ่นใหม่ๆจะเข้าเป้าได้ดีขึ้นอีกแค่ไหน ซึ่งรายละเอียดเรื่องสีสัน และความคมชัดสามารถสัมผัสผ่านช่องมองภาพ (EVF) ได้ทันทีเลย ส่วนการจัดเฟรมก็พยายามแกล้งเลนส์ดูว่าจะเผลอโฟกัสผิดจุดไหม ซึ่งก็ทำงานร่วมกับบอดี้ละลายฉากหน้าได้อย่างน่าพอใจ สมกับที่เลนส์ใช้ชิ้นเลนส์มาช่วยเรื่องความคลาดสี คลาดแสงต่างๆมาอย่างดี จุดที่ต้องระวังคือ การสวมฟิลเตอร์กรองแสงที่คุณภาพไม่สูง ส่งผลต่อความสามารถในการโฟกัส และสีสันลดทอนลงไปแบบตกม้าตาย วิธีแก้ไขก็ง่ายๆ คือ ถอดฟิลเตอร์ หรือเลือกซื้อฟิลเตอร์คุณภาพสูงมาใช้งาน…


Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.7, 1/5000 sec, ISO1250 @ 500mm, Continuous Shooting, Focus Area : Zone

มาถึงนกน้ำขนาดใหญ่อย่าง นกกระทุง หรือ Spot-billed Pelican นับว่าเป็นโชคดีที่มีโอกาสเจอในธรรมชาติแถวภาคตะวันออกเป็นฝูงขนาดใหญ่ จึงมีโอกาสได้ลองระบบป้องกันความสั่นไหว หรือ VC (Vibration Compensation) ซึ่งจะวางสวิทช์ควบคุมไว้ทางด้านซ้าย แบ่งเป็น 3 โหมด คือ โหมด 1 Standard เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุนิ่ง หรือเคลื่อนไหวช้า, โหมด 2 Exclusively for Panning เหมาะสำหรับการแพนกล้องตามวัตถุ และโหมด 3 Framing Priority เหมาะสำหรับการติดวัตถุที่มีการเคลื่อนที่เร็ว โดยฟังก์ชั่นอย่างหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆสวิทซ์นี้คือ Focus Limit Switch ที่สามารถช่วยให้การค้นหาโฟกัสเร็วขึ้น จากการกำหนดช่วงระยะโฟกัสในแต่ละครั้ง มีให้เลือกใช้งาน 3 แบบ ได้แก่ Full เป็นการค้นหาตำแหน่งโฟกัสตั้งแต่ใกล้สุด(60ซม.) จนถึงระยะอนันต์, Infinity – 3m เป็นการล็อกการค้นหาจุดโฟกัสตั้งแต่ระยะ 3 เมตรจนถึงระยะอนันต์ และInfinity – 15m เป็นการล็อกช่วงระยะการค้นหาจุดโฟกัสตั้งแต่ระยะ 15 เมตรจนถึงระยะอนันต์ ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตัวแบบที่เราจะถ่ายภาพอยู่ในระยะใดก็เลือกผลักสวิทช์ไปตามที่ระบุเลนส์ก็จะทำงานได้รวดเร็ว เต็มประสิทธิภาพ

โดยลักษณะการถ่ายภาพครั้งนี้จะนั่งนิ่งๆ เฝ้าคอยดูพฤติกรรมของฝูงนกอยู่ในรถ โดยวางเลนส์บนหมอนที่พาดไว้กับหน้าต่าง สลับกับบางครั้งก็หยิบขึ้นมา Handheld เมื่อต้องการมุมที่สูงกว่าเดิม หากนกอยู่นิ่งๆก็กดชัตเตอร์ทีละเฟรม แต่ถ้าบินโฉบผิวน้ำก็จะใช้การรัวชัตเตอร์แบบต่อเนื่องเพื่อเก็บจังหวะการบินไปเลือกพิจารณษอีกทีภายหลัง ซึ่งจังหวะแบบนี้เราต้องประคองเฟรมติดตามนกให้ดี ไม่ให้หลุดพ้นเฟรมออกไป


Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/9, 1/500 sec, ISO125 @ 463mm, Mode APS-C/Super 35mm
Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.7, 1/5000 sec, ISO1250 @ 500mm, Crop

ภาพก่อนครอปตัดส่วนเป็นภาพด้านบนเพื่อให้เห็นความคมชัดและรายละเอียดที่เลนส์ถ่ายทอดคุณภาพออกมา


มิติใหม่ของเลนส์ Ultra-Telephoto กับการถ่ายภาพระยะประชิด…

Tamron ในอนุกรมใหม่ๆจะสร้างมาตรฐานเรื่อง Minimum Object Distance (MOD) หรือการเข้าใกล้วัตถุ ได้โดดเด่นกว่าเลนส์อื่นๆทั้งในระดับเดียวกัน หรือระดับสูงกว่าเสมอ ด้วยปรัชญาในการออกแบบเลนส์ให้เกิดความคุ้มค่าในราคาที่ตัดสินใจไม่ยาก จึงพยายามหาข้อเด่นที่นักถ่ายภาพมักต้องใช้งานบ่อยๆ แลกกับบางสิ่งที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสนำมาใช้งาน ในกรณีนี้จึงเลือกออกแบบเลนส์ให้เข้าใกล้วัตถุในระยะเพียง 0.6 เมตร ที่ช่วงระยะเลนส์ 150mm และเข้าใกล้ได้ถึง 1.8 เมตร ที่ระยะ 500mm นับเป็นเลนส์ตัวแรกที่สามารถตอบสนองการใช้งานได้ใกล้ขนาดนี้ แม้จะทำให้ไม่สามารถนำ Teleconverter Lens มาใช้งานร่วมกันได้ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้ความละเอียดของกล้องที่เซนเซอร์สูงระดับ 40 – 60 ล้านพิกเซล สามารถครอปภาพได้โดยยังให้ความละเอียดของภาพที่มากพอต่อการนำไปใช้งานทั้งทางออนไลน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์

 

การเข้าใกล้วัตถุได้มากดีอย่างไร…

ลองนึกถึงตอนที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มตัวแบบที่กำลังบันทึกภาพอยู่จากไกลๆ ค่อยๆ เคลื่อนตัวมาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ คุณไม่สามารถจะเปลี่ยนเลนส์ หรือขยับตัวมากเพื่อหยิบอุปกรณ์อื่นได้ การมีเลนส์ที่ทำหน้าที่ได้อเนกประสงค์เช่นนี้มันจะช่วยให้คุณไม่พลาดเฟรมสำคัญในชีวิตไป หรืออย่างภาพด้านล่างนี้ใช้เลนส์ Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (Model A057) ถ่ายภาพดอกไม้ในสวน อาศัยช่วงแดดยามเช้าเริ่มทวีความแรงกระทบกลีบดอก ตัดกับฉากหลังที่เป็นพุ่มไม้ซึ่งมีความแตกต่างของแสงหลายสตอปจึงหวังผลก่อนกดชัตเตอร์ได้เลยว่าจะได้ฉากหลังสีเข้มออกไปทางโทนมืดแน่นอน โดยของแถมที่ได้ติดมาด้วยก็คือ Bokeh จากหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามกลีบดอก จนใครอาจนึกว่าภาพนี้ใช้เลนส์มาโครถ่ายมาเหรอ… นี่แหละพลังอัตราขยาย 1: 3.1 เท่า

Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/5, 1/500 sec, ISO100 @ 150mm, VC mode 1 Flexible Spot AF
Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/5, 1/400 sec, ISO100 @ 150mm, VC mode 1, Flexible Spot AF

เลนส์ Ultra-Telephoto Zoom ถ่ายภาพอะไรได้อีกนอกจากแนวWildlife

ด้วยความคุ้นชินกับเลนส์ตัวใหญ่เวลาจะใช้ทีก็ต้องหยิบไปถ่ายภาพที่เป็นเรื่องเป็นราวหน่อย แต่วิธีคิดกับเลนส์ใหม่นี้คุณต้องเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิมให้หมด เพราะเลนส์รุ่นนี้พร้อมหยิบนำมาใช้งานทุกสถานการณ์ คุณพ่อบ้านสามารถหันกระบอกเลนส์มาเก็บอารมณ์ความน่ารักของลูกน้อยวัยกำลังซนที่ยากแก่การบันทึกภาพในระยะใกล้ๆได้ การยกเลนส์ขึ้ยถ่ายภาพในช่วงแสงดีๆ หรือแสงอ่อนๆใต้หลังคาด้วย Handheld เราหวังผลจากระบบป้องกันความสั่นไหวได้เป็นอย่างดี เพียงพยายามเก็บข้อศอกแนบลำตัว… กดชัตเตอร์นิ่งๆอย่างแผ่วเบารับรองว่าภาพที่ได้จะประทับใจไปอีกนาน

ส่วนสาย Landscape อันนี้ไม่บอกก็คงพอจะทราบว่า คุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้นั้น ช่วยดึงระยะวัตถุที่อยู่ไกลให้เหมือนอยู่ใกล้เข้ามาจากที่สายตามองเห็น การถ่ายภาพโบสถ์ที่อยู่สูง บางครั้งต้องถอยไปไกลๆเพื่อช่วยลดปัญหาอาการ Perspective ที่มีการลู่ของอาคารจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช้ความบกพร่องใดๆของอุปกรณ์ หรือการถ่ายภาพสถานที่ที่ไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ เพราะมีน้ำ หรือป่าขวางกั้นอยู่การใช้เลนส์ซูมที่มีทางยาวโฟกัสสูงก็เป็นเคล็ดลับสำคัญที่เป็นความสามารถพิเศษของเลนส์ประเภทนี้

สำหรับสายสปร์ต ช่วงนี้ยังไม่มีโอกาสได้ไปทดสอบเพราะสนามกีฬาต่างๆยังไม่เปิดให้บริการ คงต้องรอสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้คงได้มีโอกาสนำเลนส์ Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (Model A057) ไปเก็บสีสันบรรยากาศมาฝากกัน…

Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.3, 1/400 sec, ISO250 @ 107mm, Eye AF
Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/7.1, 1/400 sec, ISO50 @ 500mm, Single Shot, Flexible Spot AF
Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.3, 1/4000 sec, ISO250 @ 108mm, Zone AF

สรุปการใช้งานเลนส์ Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (Model A057) :

จากการใช้งานจริงหนึ่งวันเต็มๆ ไม่รวมที่มีถ่ายภาพซ้อมมือเล็กๆน้อยๆ ต้องบอกว่าเลนส์รุ่นนี้ออกแบบหน้าตาภายนอกมาได้อย่างน่าใช้งาน ถ้าเพิ่มความยาวของฮู๊ดไปอีกอีกนิดจะดูหล่อ ดุดันขึ้นอีกพอสมควร แต่ด้วยขนาดที่ออกแบบมานี้ก็ใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหาแล้ว สำหรับเรื่องความเร็วในการโฟกัสหลังจากนำไปใส่กับบอดี้รุ่น A9 เห็นเลยว่าระบบโฟกัสทำงานได้ไหลลื่นกว่ารุ่น A7III แต่เรื่องการจับถือ ตลอดจนการบาลานซ์น้ำหนักนั้นให้อารมณ์เดียวกันเลย (ใส่L-Plate) คือ มีการกระจายน้ำหนักไปตั้งแต่ส่วนคอลล่าร์(Tripod Mount)ไปจนถึงบอดี้ ถ้าจับHandheld หรือประกอบวางบนขาตั้งกล้อง(Tripod)จะให้ความมั่นคงน้ำหนักไม่เทไปด้านหน้า หรือด้านหลัง ช่วยให้การจับถือมั่นคง ลดอาการสั่นไหวไปได้มาก ยิ่งตอนแพนกล้องเพื่อติดตามวัตถุจะเห็นประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างบอดี้ กับเลนส์ได้แบบลื่นไหลตามศักยภาพของกล้องรุ่นนั้นๆ

สำหรับนักถ่ายภาพที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้เลนส์อัลตร้าเทเลโฟโต้ซูมจะมีอาการเมื่อยแน่นอน เพราะยังไม่ชิน แต่ถ้าเคยใช้เลนส์เทเลโฟโต้ของกล้องประเภท DSLR คุณจะไม่รู้สึกว่าเป็นภาระอะไรเพราะขนาด และน้ำหนักนั้นสูสีกันมาก ความแตกต่างทางกายภาคอาจไม่มากเท่ากับคุณภาพทางออพติกที่พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทิ้งห่างอย่างเห็นได้ชัด ช่วยให้มีโอกาสบันทึกภาพจังหวะดีๆที่สมัยก่อนไม่มีโอกาสบันทึกได้

Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/8, 1/50 sec, ISO400 @ 500mm, Flexible Spot AF, VC mode1

ส่วนเรื่องมอเตอร์โฟกัสต้องบอกว่า VXD ทำงานได้อย่างเร้าใจ จากประสบการณ์ที่เคยมีกับTamron 70-180mm F/2.8 Di III VXD (Model A056) ต้องบอกว่าทำได้ดีไม่แพ้รุ่นพี่ การใช้งานหากต้องการทางยาวโฟกัสที่เพิ่มขึ้นสามารถนำบอดี้ APS-C มาใส่ใช้งานร่วมกับเลนส์ได้ ทางยาวโฟกัสก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 225-750mm ความละเอียดก็จะได้เต็มขนาดเซนเซอร์ แต่ถ้าใช้โหมด APS-C/Super 35mm ในกล้อง Full-Frame ความละเอียด 24 ล้านพิกเซลจะถูกครอปเซนเซอร์เหลือ 10 ล้านพิกเซล หรือความละเอียดจาก 61 ล้านพิกเซลก็จะถูกครอปเซนเซอร์เหลือ 26.2 ล้านพิกเซล ต้องลองเลือกให้ตรงความต้องการของคุณดูว่าจะตัดสินใจเลือกอย่างไร… แต่ต้องยอมรับว่าเลนส์ Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (Model A057) มีดีมิใช่น้อยใครที่กำลังตัดสินใจเลนส์ทางยาวโฟกัสไกลๆแบบนี้ ไม่ควรมองข้าม กดราคาแล้วพิจารณาความคุ้มค่าแล้วจะรู้ว่าของดีอยู่ใกล้แค่เอื้อม…

Tamron 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (A057) + Sony A7III, F/6.3, 1/4000 sec, ISO2000 @ 470mm

SPECIFICATIONS TAMRON 150-500mm F/5-6.7 Di III VC VXD (Model A057) :

 

Focal Length                 :  150 -500มม.

Max. Aperture              :  5-6.7

Optical Construction    :  25 ชิ้น 16 กลุ่ม

Diaphragm                    :  7 กลีบ

MOD                              :   0.6 เมตร @ 150mm / 1.8 เมตร @ 500mm

Filter size                      :   82mm

Dimensions                   :   93×209.6 มม.

Weight                          :   1,725 กรัม

Compatible Mount        :  E-mount