GR พาเที่ยว : Shallow ละลายหลัง…ละลายใจ by Supasit Srisawathsak

ผ่านวันปีใหม่.. ผ่านวันเด็ก ใจก็ใจคงมีแต่ GR กล้องที่พาใจละลายได้เสมอ ครั้งนี้ขอพาไปเข้าใจหลักการละลายหลัง หรือการสร้างความชัดตึ้นให้แก่ภาพ โดยคุณโจ้ ศุภสิธ ศรีสวัสดิ์ศักดิ์ ชายที่มีเรื่องราวการถ่ายภาพมาเล่าสู่กันฟังอย่างต่อเนื่อง…

 

หลายคนอาจจะคุ้นกับภาพขาวดำ ที่เน้นเรื่องของแสง และเงาหนักๆ ไม่คิดว่าคุณโจ้ ศุภสิธ จะมีมุมมุ้งมิ้ง ต้องขอบอกว่าทุกซีรีย์เราแอบเห็นภาพแนวนี้ติดมาเป็นระยะ ครั้งนี้จึงนำภาพบางส่วนมาสะกิดต่อมอยาก.. ของเพื่อนๆGRist ที่กำลังเมียงมอง GR IIIx เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตนเองอยู่ แต่ยังไม่แน่ใจว่าช่วงเลนส์ 40mm จะเหมาะสำหรับตนเองหรือไม่

 

โดยธรรมชาติของการสร้างระยะชัดติ้น มีปัจจัยหลักอยู่ 3 เรื่อง คือ

– ระยะทางยาวโฟกัส (Focal Length)

– รูรับแสง (Aperture)

– ระยะห่าง (Distance)

 

ทางยาวโฟกัส – ยิ่งมากเท่าไรโอกาสการละลายฉากหลังยิ่งเกิดขึ้นง่ายเท่านั้น ดังนั้นเลนส์ทางยาวโฟกัส 40mm จึงเกิดโบเก้ได้ง่ายกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัส 28mm ที่เป็นเลนส์มุมกว้าง และยิ่งครอปเป็นช่วง 71mm หรือใช้ร่วมกับ GT-2 Tele Conversion Lens ก็จะช่วยให้ทางยาวโฟกัสขยับเป็น 75mm ระยะความชัดก็จะลดน้อยลงกว่าทางยาวโฟกัส 40mm

 

รูรับแสง – เป็นเรื่องพื้นฐานเลยว่ารูรับแสงกว้างทำให้เกิดชัดตื้น รูรับแสงแคบนั้นทำให้เกิดชัดลึก ยิ่งเปิดรูรับแสงกว้าง แสงจะผ่านได้ครั้งละมากๆ แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาดในเรื่องของโฟกัส ที่มีโอกาสโฟกัสหลุดจากตำแหน่งที่ต้องการไปมากขึ้นด้วย เช่น เปิดกว้างสุดที่ f/2.8 ก็จะมีช่วงความชัดน้อยกว่าการเปิดหน้าเลนส์ที่ f/8

 

ระยะห่าง – เป็นตัวช่วยที่สำคัญนอกเหนือจากการควบคุมค่าภายในตัวกล้อง เพราะเมื่อเรานำกล้องเข้าใกล้วัตถุสุดที่ระยะ 10 ซม. โอกาสที่วัตถุจะละลายใสๆก็มีมากกว่าการที่กล้องอยู่ห่างในระยะ 30 ซม. แต่ถ้ายังละลายไม่สะใจคุณสามารถเพิ่มอานุภาพได้จากการเลือกฉากหลังที่อยู่ห่างไกลจากตัววัตถุ ยิ่งไกลก็ยิ่งเบลอมากขึ้น

แต่การละลาย การเบลอ มากไปก็อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะนัยเรื่องราวที่ถูกซ่อนเพื่อผูกโยงกับSubjectหลักในภาพอาจจะถูกลดทอนลงไปด้วยเช่นกัน บางครั้งเราไปเที่ยวที่แห่งนั้นด้วยความยากลำบากกว่าจะถึงจุดหมาย หากไม่รักษาช่วงระยะความชัดเอาไว้ให้เดาออกว่าเป็นที่ไหน ก็น่าเสียดายที่อุตส่าห์เพียรพยายามฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆเพื่อให้ไปถึง ณ ที่แห่งนั้น

ในขณะเดียวกัน หากยืนอยู่ในจุดที่มืแสงไฟรอบตัว หรือมีสีสันอะไรที่น่าสนใจ การเปิดรูรับแสงกว้างแล้วโฟกัสด้านหน้า หรือตรงกลาง โอกาสที่แสงไฟด้านหลังจะเป็นดวงกลมๆก็มีสูง อันเป็นผลจากไดอะแฟรม 9 ใบ อารมณ์เหมือนกับตามซุ้มที่เราเพิ่งไปถ่ายภาพงานวันปีใหม่มากันนั่นเลย

 

เห็นไหมว่า คุณโจ้ ศุภสิธ ดึงเอาความรู้พื้นฐานการถ่ายภาพมาใช้ผนวกเข้ากับหลักการจัดองค์ประกอบภาพ และประสิทธิภาพของกล้องGR IIIx ที่ติดตั้งเลนส์เดี่ยวทางยาวโฟกัสเทียบเท่า 40mm f/2.8 ของเซนเซอร์ขนาดกล้อง35mm เป็นทุนแล้วอาศัยระยะห่างมาช่วยทำสิ่งรอบตัวเกิดมุมมองใหม่ที่แลดูเรียบง่าย…ทว่าทรงพลังยิ่งนัก พบกันใหม่สัปดาห์หน้ากับ GR พาเที่ยว